บทสัมภาษณ์ 7 minutes 07 มีนาคม 2024

เสียงที่อยากบอกจากใจ 8 เชฟหญิงเก่งผู้คว้ารางวัลดาวมิชลินของประเทศไทย

เปิดรื่องราวชีวิตและเสียงที่อยากบอกจากยอดเชฟหญิงในไทยผู้คว้ารางวัลดาวมิชลินในปี 2567 ทั้งประสบการณ์เรียนรู้ชีวิตในฐานะแม่ สู้พลิกชีวิต เอาชนะอุปสรรค โรคร้าย ส่งต่ออนาคต โอกาส และแรงบันดาลใจ

น่ายินดีที่โลกเราทุกวันนี้หมุนไปในทิศทางที่เปิดกว้างให้กับผู้หญิงมากกว่าสมัยก่อน แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ ในโลกของการเป็นเชฟมืออาชีพในร้านอาหารอาหารชั้นนำโดยเฉพาะสำหรับในเอเชียซึ่งมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นั้น การที่เชฟหญิงสักคนจะก้าวขึ้นมายืนอยู่บนแถวหน้าทัดเทียมกับผู้ชายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

แล้วรู้ไหมว่าประเทศในแถบเอเชียที่มีจำนวนเชฟหญิงผู้นำทีมไปคว้ารางวัลดาวมิชลินมากที่สุดหนีไม่พ้นประเทศไทย

ในวันสตรีสากล (International Women’s Day) ประจำปี 2567 นี้เราขอชวนทุกคนมาร่วมทำความรู้จักกับสตรีผู้เก่งกาจและมากความสามารถกับเรื่องราวเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ปูด้วยกลีบดอกไม้ แต่พวกเธอก็ผ่านมันมาได้ รวมถึงเสียงที่เธออยากจะเปล่งบอกทุกคน


การิมา อาโรรา เชฟหญิงชาวอินเดียคนแรกของโลกที่นำทีมร้านอาหารไปคว้าดาวมิชลิน (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
การิมา อาโรรา เชฟหญิงชาวอินเดียคนแรกของโลกที่นำทีมร้านอาหารไปคว้าดาวมิชลิน (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

การิมา อาโรรา (Garima Arora)
Gaa, รางวัลสองดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

หากจะพูดว่าเชฟการิมา อาโรราแห่งร้าน Gaa เป็นเชฟหญิงชาวอินเดียที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ​ณ ปัจจุบันก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะไม่เพียงแต่เธอจะได้รับรางวัลดาวมิชลินมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุได้เพียง 32 ปีเท่านั้น เชฟการิมายังเป็นเจ้าของรางวัลพิเศษ MICHELIN Guide Young Chef Award Presented by Blancpain ในปี 2565 และล่าสุดกับการประกาศผลรางวัลมิชลินไกด์ฉบับปี 2567 เธอได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นเชฟหญิงชาวอินเดียคนแรกผู้คว้ารางวัลสองดาวมิชลินมาครองได้สำเร็จ ที่ผ่านมาเชฟการิมายังเป็นผู้ร่วมร่วมใน Food Forward India โครงการที่มีจุดมุ่งหมายในการสืบสานประวัติศาสตร์และสานต่ออนาคตของอาหารอินเดีย เธอยังเป็นเซเลบริตี้เชฟผู้ตัดสินในรายการมาสเตอร์เชฟอินเดีย ล่าสุดหญิงเก่งคนนี้เพิ่งสวมหมวกต้อนรับบทบาทใหม่ในการเป็นคุณแม่

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “การบอกว่าผู้หญิงมีพร้อมทุกอย่างได้เป็นเรื่องโกหก ความจริงก็คือคุณมักจะต้องเสียสละชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อไปอยู่หรือทำหน้าที่อีกส่วนเสมอ เมื่อฉันทำงานที่ร้าน ฉันรู้สึกว่าฉันกำลังสูญเสียบทบาทในฐานะแม่ แต่ตอนอยู่กับลูกชาย ฉันมักจะคิดถึงหน้าที่ต้องทำที่ Gaa ฉันจึงเคารพบรรดาคุณแม่ที่ทำงานในร้านอาหารมาก คุณจำต้องสละบางอย่างเพื่อจะได้อยู่กับลูกหรืองาน คุณทำงานหนักไม่ต่างอะไรกับผู้ชาย แต่บางครั้งคุณจำต้องปฏิเสธสิ่งที่ต้องการ เพราะงานหรือลูกต้องการคุณ เป็นอะไรที่ไม่ค่อยยุติธรรม แต่ก็เป็นความจริงของชีวิต”

เชฟแพมที่ร้านโพทงซึ่งตั้งอยู่ใจกล่างย่านเยาวราช (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟแพมที่ร้านโพทงซึ่งตั้งอยู่ใจกล่างย่านเยาวราช (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

แพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ
โพทง, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

เชฟแพมเริ่มสร้างชื่อในฐานะเชฟจากการแข่งขันเชฟรุ่นเยาว์ Asia’s Youth Hope Cooking Competition เมื่อปี 2554 ทั้งยังได้รางวัลรองชนะเลิศจาก The Escoffier World Cup ซึ่งเธอเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากทวีปเอเชีย จากนั้นจึงศึกษาต่อที่สถาบัน The Culinary Institute of America (CIA) และทำงานที่ Jean George (รางวัลสามดาวมิชลิน ณ เวลานั้น) แล้วกลับเมืองไทย ด้วยความเก่งกาจและบุคลิกอันโดดเด่นเชฟแพมยังเป็นกรรมการให้กับรายการ Top Chef Thailand จนมาถึงปีทองในปี 2566 เมื่อเธอเปิดร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งไทย-จีน จากตึกโบราณของบรรพบุรุษ ทันทีที่ร้านโพทงเปิดบริการ ไม่เพียงคว้ารางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาครองได้สำเร็จ แต่ยังพ่วงด้วยรางวัลพิเศษอย่าง Opening of the Year presented by UOB ที่มอบให้กับร้านอาหารเปิดใหม่ที่โดดเด่นและสร้างความสำเร็จอย่างงดงามทันทีที่เปิดตัว เธอยังเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาย่านทรงวาดกับโครงการ Made in Songwat และก่อตั้ง Scholarship for Female Chef (WFW) เพื่อสานฝันให้เด็กผู้หญิงที่อยากเรียนทำอาหารแต่ขาดแคลนโอกาสและทุนทรัพย์อีกด้วย

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “แพมเชื่อว่าโอกาสเป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับจุดเริ่มต้น แพมเองก็ต่อสู้และฝ่าฝันอุปสรรคต่าง ๆ มา และได้รับรู้ว่าการได้รับเพียง ‘โอกาส’ นั้นสำคัญขนาดไหน เราว่าผู้หญิงเรามีความสามารถไม่ต่างกับเพศอื่นแต่ไม่มีโอกาสที่จะสานฝัน แพมอยากเป็นตัวแทนที่จะยื่นโอกาสนี้ให้กับผู้หญิงที่ไม่มีทุนทรัพย์ และอยากเป็นแรงผลักดันหรือแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่กำลังต่อสู้เพื่อโอกาสนี้ ผู้หญิงทุกคนมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในสายงานอาชีพใดก็ตาม ขอแค่เพียงมีโอกาสได้แสดงฝีมือและความสามารถก็พอ”


เชฟตามใช้วัตถุดิบพื้นบ้านทั้งหมดที่ร้านบ้านเทพาที่แปลงโฉมมาจากบ้านหลังใหญ่ย่านรามคำแหงของบรรพบุรุษของเธอ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟตามใช้วัตถุดิบพื้นบ้านทั้งหมดที่ร้านบ้านเทพาที่แปลงโฉมมาจากบ้านหลังใหญ่ย่านรามคำแหงของบรรพบุรุษของเธอ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

ตาม-ชุดารี เทพาคำ
บ้านเทพา, รางวัลสองดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2024

เชฟตามเคยฝึกงานที่ร้านชื่อดังในอเมริกาอย่าง Jean-Georges (รางวัลสองดาวมิชลิน) และเคยทำงานที่ร้าน Blue Hill At Stone Barns (รางวัลสองดาวมิชลิน และดาวมิชลินรักษ์โลก) มาก่อน และในวัยเพียง 27 ปี เชฟหญิงไทยผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์คนนี้สร้างชื่อให้กับตัวเองด้วยการเป็นผู้ชนะในรายการ Top Chef Thailand ซีซันแรก หลังจากเปิดร้านบ้านเทพาของตัวเองในบ้านของครอบครัว เชฟและเจ้าของร้านหญิงคนนี้ก็คว้ารางวัลดาวมิชลินดวงแรกมาครองได้สำเร็จกับคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2566 และล่าสุดในงานประกาศผลประจำปี 2567 เชฟตามได้รับทั้งรางวัลพิเศษ MICHELIN Young Chef Award และเพียงไม่กี่นาทีถัดมา เธอก็นำร้านบ้านเทพาไปสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดาวมิชลินถึงสองดวงมาครอง เชพตามและบ้านเทพายังคงมุ่งมั่นพัฒนาบนแนวทางความยั่งยืนโดยใช้วัตถุดิบพื้นบ้านทั้งหมด ทั้งยังสนับสนุนและทำงานร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่นอันเป็นปณิธานของร้าน

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “ชีวิตเชฟไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องแน่ใจก่อนว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ เราต้องพัฒนาต่อยอดตัวเองไปเรื่อย ๆ ต้องรู้สึกถึงแรงกดดันของครัวมืออาชีพ แต่เราต้องอดทน เอาชนะมันให้ได้โดยเร็ว และเราต้องโตขึ้นทุก ๆ วันด้วย ตามรู้ว่ามันยาก โดยเฉพาะในไทยที่คนไม่ชินเวลาถูกวิจารณ์เรื่องงาน แต่คุณต้องจำไว้ว่าร้านอาหารมีเป้าหมายร่วมกัน และการไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องรู้จักทำงานเป็นทีม”

เชฟพิม เจ้าของ 3 ร้านอาหารรางวัลดาวมิชลิน (© MICHELIN Guide Thailand)
เชฟพิม เจ้าของ 3 ร้านอาหารรางวัลดาวมิชลิน (© MICHELIN Guide Thailand)

พิม เตชะมวลไววิทย์
น้ำ, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567
Kin Khao, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับแคลิฟอร์เนีย ประจำปี 2566
Nari, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับแคลิฟอร์เนีย ประจำปี 2566


เชื่อหรือไม่ว่าเชฟหญิงผู้คว้าดาวให้กับ 3 ร้านอร่อยใน 2 ทวีป อย่างเชฟพิม เตชะมวลไววิทย์ นั้นไม่เคยสัมผัสกับงานในครัวอาชีพเลยก่อนที่เธอจะเปิดร้านอาหารร้านแรกในชีวิต หลังจากหันหลังให้กับงานนักวิจัยในซิลิคอนแวลลีย์มาเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารเต็มตัวกับ Chez Pim แต่ด้วยความหลงใหลในอาหารไทย เธอจึงเปิดร้าน Kin Khao ขึ้นมาเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2557 และคว้ารางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาครอง และเมื่อเชฟเดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) วางมือจากร้านอาหารไทยชื่อดังอย่างน้ำ (รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน) ที่กรุงเทพฯ เชฟพิมจึงได้รับการทาบทามให้มาดูแล เธอเริ่มบริหารร้านน้ำมาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการเดินทางไปกลับระหว่าง 2 ทวีปอยู่ตลอดเวลา จนนำทีมให้รักษาดาวมิชลินมาได้นับแต่นั้น และไม่นานมานี้ร้านอาหารไทยอีกแห่งของเธออย่าง Nari ที่ซานฟรานซิสโกก็คว้าดาวมาแทบจะในทันทีที่เปิดตัว ด้วยความใส่ใจและเอาจริงเอาจังในเรื่องคุณภาพ และเห็นคุณค่าของ “มรดกอาหารไทย” ทั้ง 3 ร้านอาหารอาหารไทยที่เธอดูแลอยู่จึงไม่ขาดตกบกพร่องและยังคงรักษาดาวประดับได้จวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ด้วยความที่เคยต้องต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็ง เธอจึงเป็นเชฟหญิงอีกคนที่หันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและความยั่งยืน

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “ความยั่งยืนมีความหมายมาก การรับประทานอาหารปนเปื้อนสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะกับหญิงมีครรภ์และเด็กทารก มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เพื่อคนรุ่นต่อไป”


เจ๊ไฝกับความมุ่งมั่นในการทำอาหารที่ไม่อาศัยทางลัดและลงมือปรุงด้วยตัวเองทุกจาน (© MICHELIN Guide Thailand)
เจ๊ไฝกับความมุ่งมั่นในการทำอาหารที่ไม่อาศัยทางลัดและลงมือปรุงด้วยตัวเองทุกจาน (© MICHELIN Guide Thailand)

สุภิญญา จันสุตะ (เจ๊ไฝ) 
เจ๊ไฝ, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

ภาพจำที่ทุกคนเห็นราชินีอาหารริมทางของประเทศจนชินตาคือผู้หญิงที่มากด้วยประสบการณ์ชีวิตทว่ายังคงกระฉับกระเฉงใส่แว่นประดาน้ำปรุงอาหารอยู่หน้าเตาร้อนระอุ จากผู้หญิงที่เรียนจบเพียงชั้น ป. 4 อดีตลูกจ้างร้านตัดเสื้อผู้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาและผันตัวมาเปิดร้านอาหารคนนี้ ด้วยคุณภาพและฝีมือปรุงที่ไม่ธรรมร้านเจ๊ไฝจึงเป็นร้านอาหารริมทางเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ได้รับดาวมิชลินไปครองตั้งแต่คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2561 เปิดตัว ทำให้เธอโด่งดังชั่วข้ามคืนและได้ร่วมงานกับเชฟชั้นนำชื่อดังระดับสากลมากมาย รวมถึงสตรีมมิ่งค่ายยักษ์อย่าง Netflix สายการบินแห่งชาติ และแบรนด์ดังต่าง ๆ ทั้งยังเป็นทูตให้กับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย เจ๊ไฝยังคงควงตะหลิวอยู่แม้วัยล่วงเข้า 79 ปีแล้วก็ตาม แม้เธอไม่รู้ว่าจะต้องแขวนมันวันไหน แต่เจ๊ไฝก็ตั้งใจว่าจะยังคงทำมันต่อไปตราบเท่าที่ยังมีแรง

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “ฉันเองอายุมากแล้ว คิดว่าอนาคตของร้านเราก็เป็นสิทธิ์ของรุ่นลูกหลาน เขาอาจได้สมบัติของเราไป แต่เขาจะนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิทธิ์และอนาคตของเขา ฉันเชื่อว่าเขาต้องทำได้ คนรุ่นใหม่เก่ง เรามองเห็นอนาคตไกลในตัวเขาว่าจะต้องทำอะไรดี ๆ ได้อีกหลายอย่าง การทำอาหารโดยเฉพาะอาหารดี ๆ นั้นไม่มีวันสิ้นสุดหรอก”

เชฟหญิงชาวมาเลเซียผู้นำร้าน Mia ในกรุงเทพฯ ไปคว้ารางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาครอง (© Mia)
เชฟหญิงชาวมาเลเซียผู้นำร้าน Mia ในกรุงเทพฯ ไปคว้ารางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาครอง (© Mia)

มิเชลล์ โกห์ (Michelle Goh)
Mia, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

เพสทรีเชฟคนเก่งอย่างมิเชลล์เกิดและโตที่กูชิง เมืองเล็ก ๆ ในหมู่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย เมื่ออายุ 18 ปี เธอตัดสินใจจากบ้านเกิดเพื่อออกเดินทางตามความฝัน หลังจากที่เรียนจบจาก Le Cordon Bleu ในซิดนีย์ เธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในออสเตรเลียอยู่สักพัก แล้วจึงย้ายไปประจำที่ร้าน Pollen ในสิงคโปร์ จนอายุ 23 มิเชลล์ก็โยกย้ายอีกครั้งมายังกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเพสทรีเชฟให้กับร้าน Sühring ที่ได้รับรางวัลสองดาวมิชลินในเวลาต่อมา เธอและคนรัก เชฟท็อป-พงศ์ชาญ รัสเซล (Pongcharn ‘Top’ Russell) เป็นหัวเรือใหญ่ของร้านมีอา โดยปลุกปั้นจนร้านอาหารที่ได้รับการคัดเลือกในคู่มือก่อน ๆ หน้า ไปคว้ารางวัลดาวมิชลินดวงแรกมาครองได้สำเร็จ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “คุณอาจรู้สึกล้าเมื่ออยู่ในโลกของงานครัวที่เต็มไปด้วยผู้ชาย และคุณต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าเพื่อจะมีคนเห็นผลงาน แต่อย่าให้ใครมาบอกว่าคุณทำไม่ได้ ถ้าอยากให้คนอื่นได้ยินเสียง จงลุกขึ้นพูด มั่นใจในตัวเอง การทำงานหนักจะทำให้เราได้รับการเคารพ”


เชฟบานเย็น เรืองสันเทียะไต่เต้าจากการเป็นแม่บ้านสู่แม่ครัวร้านอาหารรางวัลดาวมิชลิน (© MICHELIN Guide Thailand)
เชฟบานเย็น เรืองสันเทียะไต่เต้าจากการเป็นแม่บ้านสู่แม่ครัวร้านอาหารรางวัลดาวมิชลิน (© MICHELIN Guide Thailand)

บานเย็น เรืองสันเทียะ
สวนทิพย์, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

จากเด็กสาวชนบทผู้ยากจนในโคราชเคยรับจ้างแบกมันแลกค่าแรงวันละ 10 บาท เมื่อถึงวัยเพียง 13 ปี เด็กหญิงบานเย็น เรืองสันเทียะ หรือ ‘บุญมี’ ระหกระเหินมาเสี่ยงโชคเป็นแม่บ้านในกรุงเทพฯ เธอค่อย ๆ พัฒนาฝีมือด้านการครัวขึ้นมาทีละน้อยจากการฝึกฝนโดยนายจ้าง ด้วยความใส่ใจและใฝ่รู้ค่อย ๆ เรียนรู้แบบครูพักลักจำมาเรื่อย ๆ ภายหลังตระกูลกิตติขจรได้ปรับเปลี่ยนกิจการโรงผ้าริมน้ำในจังหวัดนนทบุรีให้กลายเป็นร้านอาหารสวนทิพย์เมื่อปี 2528 เธอจึงได้รับการชักชวนให้มาช่วยทำงานภายในร้าน ไต่เต้าจากเด็กเก็บโต๊ะ แล้วจึงได้เข้ามาช่วยงานในครัว ภายหลังเมื่อป้าสะอิ้ง จิตบรรเทา อดีตหัวหน้าแม่ครัวของสวนทิพย์หมดหน้าที่ลง เจ้าของจึงไว้วางใจให้ป้าบุญมีขึ้นเป็นหัวหน้าแม่ครัวแทน เธอรังสรรค์เมนูจากสูตรดั้งเดิมของตระกูลกิตติขจร และเมนูอาหารไทยมากมายที่อร่อยเรียบง่ายในแบบฉบับของตัวเอง จนร้านสวนทิพย์ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลินมาตั้งแต่ปี 2562 จวบจนทุกวันนี้ เรื่องราวของป้าบุญมีคือบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งผู้มีใจรักในอาหารและไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาจนได้ดีอย่างแท้จริง

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: “วัยเด็กป้ายากลำบากมาก เส้นทางชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ ป้าเรียนจบแค่ ป.4 เขียนหนังสือไม่ค่อยได้ไม่มีความรู้อะไรเลย แต่เรามีใจรักในอาหาร อยากให้ลูกค้าได้กินของอร่อย คนทำอาหารทำแค่ผิวเผินไม่ได้หรอก ต้องใจรักจริง ๆ”

เชฟต้อย คนครัวมากฝีมือจากเชียงใหม่ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)
เชฟต้อย คนครัวมากฝีมือจากเชียงใหม่ (© อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา/ MICHELIN Guide Thailand)

ต้อย-พิไลพร คำหนัก
เสน่ห์จันทน์, รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน, คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567

แม้จะมีพื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ แต่ก็ใช่ว่าเชฟสาวผู้นี้จะเชี่ยวชาญเฉพาะอาหารไทยภาคเหนือเท่านั้น เธอโดดเด่นในการรังสรรค์อาหารไทยตำรับชาววังชั้นสูงอันละเมียดละไมชนิดหาตัวจับได้ยาก ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนผสานใจรักในอาหารไทยดั้งเดิม ทำให้อาหารเชฟต้อยมีรสชาติอย่างไทยแท้ที่คนอาจหลงลืมหรือไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อนมา หัวหน้าเชฟหญิงแห่งร้านเสน่ห์จันทน์ผู้นี้นำเสนออาหารไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ผ่านรสชาติอันละเอียดอ่อนประณีต แต่ก็ใช่ว่าเชฟต้อยจะทำอาหารตามสูตรดั้งเดิมเสมอไป เชฟหญิงชาวไทยผู้นี้ยังปรุงใส่ความสร้างสรรค์ด้วยการนำเทคนิคอาหารฝรั่งเศสมาสอดแทรกเข้าไปได้อย่างแยบยลจนออกมาเป็นเมนูอาหารไทยที่น่าสนใจมีเสน่ห์น่าค้นหาไม่แพ้กัน จนทำให้เสนห์จันทน์ยังคงสามารถรักษามาตรฐานดาวมิชลินเอาไว้ได้เสมอมา และเป็นห้องอาหารไทยรับรองแขกบ้านแขกเมืองแห่งสำคัญของกรุงเทพฯ​ ที่คอยต้อนรับผู้คนจากแดนไกลที่อยากลิ้มรสชาติอาหารไทยแท้ ๆ

เสียงที่เชฟหญิงคนนี้อยากบอก: "เราเกิดมาในครอบครัวธรรมดาในต่างจังหวัดซึ่งถูกสอนว่าลูกผู้หญิงจะต้องรักในการทำอาหารเพื่อเป็นทักษะติดตัว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นเชฟ เราชอบสังเกตและใส่ใจในทุกรายละเอียดขั้นตอนในการปรุงอาหาร เพื่อให้คนที่ได้กินรับรู้ถึงความใส่ใจและรสชาติที่อร่อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงอย่างเราจะผ่านแรงกดดันและคำวิจารณ์ต่าง ๆ นานา ทั้งคำติ คำชม ในครัวอาชีพที่ยังมีผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ด้วยใจรักในการทำอาหาร เราจึงข้ามผ่านความรู้สึกที่แย่เหล่านั้นไปได้ และทำให้เรารู้สึกภูมิใจในอาชีพเชฟในที่สุด"


บทสัมภาษณ์

ดูอย่างอื่นต่อ - เรื่องราวที่คุณอาจสนใจ